จากโอลิมปิก Tokyo2020 สู่พิมพ์ขนมปังญี่ปุ่น

Last updated: 15 ส.ค. 2564  |  3284 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จากโอลิมปิก Tokyo2020 สู่พิมพ์ขนมปังญี่ปุ่น


ความญี่ปุ๊นนน ญี่ปุ่น ในทุกอณูของพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก Tokyo2020 อันเกิดจากความเป็น Specialty + Professional + Passion + Craftmanship  ของคนญี่ปุ่น ทำให้เราอดคิดไปถึง Bakery ของญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะไม่ใช่เพียงแค่รูปลักษณ์ หรือรสชาติ แต่องค์ประกอบทุกๆ อย่างที่ทำให้เกิดขนมขึ้นมา 1 ชนิดนั้น หากเราได้ลงไปดูในรายละเอียดแล้ว เราจะต้องอุทานว่า นี่มันญี่ปุ๊นนนน ญี่ปุ่น

“พิมพ์ขนมปังญี่ปุ่น” คือรายละเอียดที่เราอยากจะหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้ค่ะ

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าพิมพ์ขนมปังที่ฮิตๆ ใช้ทำ “ขนมปังญี่ปุ่น” หรือ “โชคุปัง” เป็นพิมพ์ที่ผลิตจาก “ประเทศจีน” อ้าว...ทำไมทำขนมปังญี่ปุ่น แล้วไม่ใช้พิมพ์ ญี่ปุ่นล่ะ? เหตุผลแบบไทยๆ นั่นก็เพราะ “พิมพ์จากจีนถูกกว่า” ค่ะ

ราคาของความเป็นญี่ปุ่นนั้นไม่ธรรมดาเลยค่ะ แพงกว่าของจีนเยอะมาก นั่นเพราะความเป็น Specialist + Professional + Passion + Craftmanship ที่มีอยู่ในสายเลือกคนญี่ปุ่น เค้าคิดแล้วคิดอีก ต้องใช้เวลา ความสามารถ และความหลงไหล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมี “มูลค่า” ...ต่างกับสินค้าจากประเทศจีน ที่ใช้วิธีผลิตจำนวนเยอะๆ ใช้ขั้นตอนน้อยๆ และไปลดทอนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและความทนทานของสินค้า เพื่อควบคุมต้นทุน ทำราคาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

แต่รู้ไหมคะว่าคนญี่ปุ่นเค้า “ให้คุณค่า” กับ "ความเป็นญี่ปุ่น" มากๆ เลยค่ะ  เพราะต่อให้สินค้าจีน ราคาถูกกว่า แต่เค้าไม่ใช้สินค้าจากประเทศจีน ถ้าใครเคยดูคลิปที่พาชมร้านขนมปังที่เป็น Artisan baker ของญี่ปุ่น ก็จะเห็นถึงลักษณะเฉพาะ ที่เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ขนมแบบญี่ปุ่น ที่จะเป็นจุดๆ อันเกิดจากการเชื่อมแผ่นวัสดุที่ใช้ทำพิมพ์เข้าด้วยกัน จะไม่ได้เกิดจากการปั้ม หรือพับขึ้นรูปแบบของจีน

ซึ่งขั้นตอนการเชื่อมพิมพ์นี้เรียกว่า Spot Welding เป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้ในโรงงานประกอบตัวถังรถยนต์ด้วยค่ะ   โดยเหตุผลที่ต้องมีการทำ Spot Welding เพราะว่าวัสดุที่นำมาใช้นั้นมีความหนา จึงต้องทำการเชื่อมให้รอยพับ ยึดติดกันแน่นขึ้น ทำให้โครงสร้างมีความแข็งแรง คงทน ไม่ผิดรูป และเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะ ความแม่นยำ ความชำนาญ ซึ่งในโรงงานประกอบรถยนต์จะใช้ทั้งหุ่นยนต์ และพนักงานที่มีทักษะสูงในการทำงานนี้ค่ะ



ความพิเศษของการเชื่อมพิมพ์ขนมปังญี่ปุ่นนั้น มีข้อดีคือ เมื่อพิมพ์โดนความร้อน จะเกิดการขยายตัว และเมื่อเย็น จะเกิดการหดตัว ซึ่งจุดเชื่อมนี้ จะช่วยยึดโครงสร้างของพิมพ์ไว้ไม่ให้เกิดการบิดงอ นอกจากนี้ยังมีการใช้ Stainless Steel สอดไว้ด้านบนของพิมพ์ เพื่อช่วยในการคงรูปของพิมพ์อีกหนึ่งชั้นด้วย (Stainless Steel นิยมนำมาทำเป็นแกนของพิมพ์เพราะทนความร้อนได้มากกว่าวัสดุที่ใช้ทำพิมพ์ จึงไม่ขยายตัวเมื่อโดนความร้อน สำหรับพิมพ์ ส่วนใหญ่จะใช้เป็น Steel with aluminum plating ที่หนาถึง 0.7-0.8 มิลลิเมตร แต่นำความร้อนได้ดี)



สำหรับความหนาของพิมพ์ การเลือกวัสดุที่นำมาทำพิมพ์ การชุบเคลือบพิมพ์ด้วย process ที่ต่างกันไป ก็มีส่วนทำให้ texture ของขนมปังนั้น ต่างไปด้วย ถ้าใครที่เคยลองใช้พิมพ์ขนมปังญี่ปุ่นแล้ว จะพบว่า พิมพ์ขนมปังญี่ปุ่น จะให้ผิวที่มีความ “กรอบนอก นุ่มใน” ได้มากกว่า นั่นเพราะการเลือกใช้วัสดุที่นำความร้อนได้ดีกว่านั้นเองค่ะ



ถึงพิมพ์จะราคาแพงกว่าเพราะมีขั้นตอนที่เยอะกว่า แต่คนญี่ปุ่นก็เลือกใช้ของที่ดีกว่า เพื่อส่งมอบขนมที่ทำด้วย passion ของเค้า ให้กับคนทานด้วยความตั้งใจจริง



สิ่งนี้สะท้อนไกล ไปถึงฝรั่งแท้ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดขนมปัง ถึงกับทำบทความชื่อ “Japan’s Shokupan is the upper crust of loaves” เพื่อชื่นชมถึงความอร่อยของขนมปังแบบญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว



และจากบทความนี้เอง เราเลยได้รู้ว่าที่ญี่ปุ่นเค้ามีการจัด Artisanal Bread Festival ในชื่อ Aoyama Pan Matsuri โดยจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยเชิญชวนร้านขนมปังที่ผลิตขนมปังแบบ "bakery as an artist" มาออกร้านให้คนทั่วไปได้แวะเวียนมาชิมฝีมือ สายขนมปังคนไหนอยากแวะเวียนไปชิมเมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศแล้ว (และเราเดินทางกันได้) ก็ลองติดตามอัปเดทกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ http://aoyama-panmatsuri.com/ ได้เลยค่ะ



ส่วนตอนนี้ใครอยากลองทำขนมด้วยจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่น ก็สามารถดูสินค้าได้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์นะคะ ทางร้านมีสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาเรื่อยๆ โดยจะเป็นสินค้าที่ทางร้านชอบค่ะ ไม่ได้เน้นเทรนด์ แต่จะมีกิมมิค ที่ดูแล้ว เออ อันนี้เค้าคิดมาแล้วนะ หรือของที่เป็นธรรมชาติ และสำคัญที่สุดคือ....เป็นของที่อร่อยค่ะ

 

ขอให้มีความสุข กับการทำขนมให้คนที่คุณรักได้ทานนะคะ



 

หากบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและต้องการนำไปเผยแพร่หรือแชร์ต่อ ทางร้านขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้ copy, ดัดแปลงบทความหรือข้อความใดๆ ของต้นฉบับ แต่ขอให้กดปุ่ม share หรือ redirect ลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับค่ะ ขอบคุณค่ะ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้