3208 จำนวนผู้เข้าชม |
เล็มมีมีซีรี่ย์ดีๆ หนึ่งเรื่อง ที่อยากมาแนะนำให้เพื่อนๆ ได้ไปชมกัน โดยเฉพาะสายช็อกโกแลต...ไม่อยากให้พลาดเรื่องนี้เลยค่ะ หรือหลายๆ คนอาจจะเคยชมแล้วก็ได้…ซีรี่ย์บน Netflix เรื่องนี้มีชื่อว่า School of Chocolate ค่ะ
School of Chocolate เป็นเรื่องราวของการแข่งขันทำ Pastry และ Chocolate Show Piece ในโรงเรียนสอนทำขนม ชื่อ “The Pastry Academy by Amaury Guichon” ซึ่งเป็นของ “Amaury Guichon” เชฟที่โด่งดังและมีผู้ติดตามใน Facebook และ Instagram เกือบ 10 ล้านคน และจะเรียกว่า “ดาวติ๊กต๊อก” ฝั่งเชฟช็อกโกแลต ก็คงไม่ผิดนัก เพราะมียอดวิวเฉลี่ยเกิน 1 ล้านวิว และมีหลายคลิป ที่สูง 40-80 ล้านวิว บนช่อง TikTok ของเชฟ
แต่ “Amaury Guichon” เป็นมากกว่า “ดาวติ๊กต๊อก” แล้วเส้นทางที่จะทำให้มาถึงวันนี้ ที่เป็นทั้งเจ้าของโรงเรียนสอนทำ Pastry ในลาสเวกัส และเป็นเจ้าของเรื่องราวในซีรี่ย์ School of Chocolate ใน Netflix เป็นมาอย่างไร เล็มมีจะเล่าให้ฟังคร่าวๆ ก่อนค่ะ
เชฟ Amaury Guichon (Netflix แปลชื่อเชฟว่า อเมารี) ปัจจุบันอายุ 31 ปี เป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-สวิส ที่พออายุ 14 ก็หันหลังให้กับการศึกษาในระบบสามัญ มุ่งสู่ vocational school (เทียบเท่ากับสายอาชีวศึกษาบ้านเรา) โดยเรียนหลักสูตรการทำอาหาร (Cooking) ที่ประเทศฝรั่งเศส 2 ปี และไปฝึกงานด้านขนมอบ (pastry) ต่ออีก 2 ปีที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยระหว่างนี้เขาชนะการประกวด chocolate piece อีกหลายครั้ง
เมื่ออายุ 18 เขากลับมาที่ฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อศึกษาต่อด้านขนมอบขั้นสูง (Advanced Pastry Skills diploma) ที่ Maison Lenôtre อีก 2 ปี ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในเชฟฝึกหัดที่ดีที่สุดในปารีส จากนั้นเขาทำงานต่อเป็นครูผู้สอนที่ Lenôtre School of Cannes อีก 1 ปี และในวัย 21 ปี เขาได้เป็น Head Chef แผนกวิจัยผลิตภัณฑ์ ของ Hugo & Victor ร้านช็อกโกแลตชื่อดังของฝรั่งเศส (กลับมามองตัวเอง...ตอน 21 เราทำอะไรกันอยู่นะ หาตัวเองเจอรึยังก็ไม่รู้ 55)
ระหว่างในปี 2013 เขาได้เข้าแข่งขันในรายการเรียลลิตี้ด้านขนมอบของฝรั่งเศส “Qui Sera le Prochain Grand Pâtissier?” หรือWho will be the next great pastry chef? คว้าอันดับที่ 3 และผลงานในรายการก็ไปเข้าตา Jean-Philippe Maury ที่เป็นเจ้าของ Jean-Philippe Patisserie ร้าน pastry สัญชาติฝรั่งเศสหลายสาขาในสหรัฐอเมริกา จนได้โอกาสไปทำงานที่ลาสเวกัส และอยู่ที่นี่จนกระทั่งปี 2017
ในช่วงปี 2016 เขาได้เริ่มโพสคลิปวิดีโอ “how to”/”behind the scenes” ที่แสดงถึงเบื้องหลังการทำชิ้นงาน chocolate showpiece และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้มีสถาบันต่างๆ ทั่วโลกติดต่อเชิญไปเป็นวิทยากร สอน Masterclass ในเรื่องของการทำชิ้นงานจากช็อกโกแลต ถือเป็นการก้าวสู่การทำงานในระดับ International
14 ปีหลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในวงการช็อกโกแลตทั่วโลก เขาก็ได้เปิดโรงเรียนของตนเองที่ลาสเวกัส ชื่อ “The Pastry Academy by Amaury Guichon” (เป็นโรงเรียนที่มี Sponsor ดังๆ มาลงเยอะมากกกก) และเป็นที่มาของซีรี่ย์ School of Chocolate ที่เรากำลังจะเล่าให้ฟังกันค่ะ
School of Chocolate เป็นการแข่งขันทำขนมอบและช็อกโกแลตในสไตล์ของเชฟอเมารี ที่จะไม่มีผู้ถูกคัดออก แต่จะมี 1 คนที่จะได้เป็น Best – In- Class หรือนักเรียนดีเด่นของแต่ละวัน ซึ่ง 1 วันจะประกอบไปด้วยแบบฝึกหัดเดี่ยว และแบบฝึกหัดแบบกลุ่ม ที่ผู้มีคะแนนสูงสุด 2 คนของแบบฝึกหัดเดี่ยว จะได้เป็นหัวหน้าทีมในช่วงแบบฝึกหัดกลุ่มที่จะต้องช่วยกันทำ Chocolate showpiece ที่แสนจะท้าทายและยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนผู้ที่ทำคะแนนได้ต่ำสุด จะไม่ได้เข้าร่วมการทำแบบฝึกหัดกลุ่ม และหมดสิทธิ์การได้เป็นนักเรียนดีเด่นของวันนั้นไปอย่างน่าเสียดาย
ความสำคัญของการเป็นนักเรียนดีเด่นก็คือ เงินรางวัล 50,000 USD ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้เข้าแข่งขัน รวมไปถึงโอกาสอีกหลายๆ อย่างที่เชฟอเมารีและสปอนเซอร์จะมอบให้ โดยคะแนนของนักเรียนดีเด่นของแต่ละวันจะถูกนำมารวมกันและคิดคะแนนรวมในวันทดสอบวันสุดท้าย
ใน 8 ตอนของซีรี่ย์นี้ เราจะได้เห็นเทคนิคของเชฟอเมารีที่ใช้ในการทำงานช็อกโกแลต ทั้งเทคนิคการพับ ม้วนช็อกโกแลต การขัดช็อกโกแลตให้ขึ้นเงา การทำโครงสร้างสถาปัตยกรรม เรียกว่าใช้คุณสมบัติของช็อกโกแลตที่มีทั้งความแข็ง ความอ่อนนุ่ม ความกรอบ ความเยิ้ม ความเบา ความบาง หรือความแข็งแรงเมื่อใช้เป็นโครงสร้าง ความสามารถในการเป็นกาวเพื่อเกาะยึด ได้อย่างครบถ้วน เรียกว่าเป็นซีรี่ย์ที่เปิดโลกคุณสมบัติของช็อกโกแลต ที่ดูแล้วต้องกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงได้กินแค่ช็อกโกแลตเม็ดรีๆ บนคุกกี้ด้วยนะ ทำไมเราถึงได้กินแต่ช็อกโกแลตปั่นนะ หรือทำไมเราถึงได้กินแค่เค้กช็อกลาวาไหลเยิ้ม....
ไม่เพียงแค่ทักษะด้านช็อกโกแลตที่เชฟอเมารีนำมาขึ้นรูปเป็นสิ่งของต่างๆ (Modern Illusion) เช่น ดินสอสี หีบสมบัติ ที่ข้างในซุกซ่อนเค้กอร่อยๆ ไว้ ที่ทำให้เราได้ทึ่งตลอดซีรี่ย์ ความสามารถในการทำขนมอบ ของทั้งเชฟและผู้เข้าแข่งขัน ก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน เชฟอเมารีผู้ที่ดูจะชื่นชอบรสชาติของผลไม้เมืองร้อน (Exotic Fruit) เป็นพิเศษ ก็จะใช้วัตถุดิบที่เป็นผลไม้มา infuse กับวานิลลา ที่เชฟใช้ทีเป็นฝักๆ และใช้ฝักวานิลลาเกือบในทุกองค์ประกอบ (ไม่ได้ใช้ Bean Paste หรือ Extract ด้วยนะ) เห็นการเลือกวัตถุดิบแล้วและวิธีการทำแล้ว ก็ต้องใส่ชื่อเชฟไว้ในลิสท์ที่ต้องไปกินสักครั้งก่อนตาย
อยากให้ทุกคนที่รักการทำขนมได้ดู School of chocolate จริงๆ นะคะ จะได้เห็นศักยภาพทั้งของเชฟที่อายุยังน้อย ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ศักยภาพของเครื่องมือ ที่มีทั้งอุปกรณ์ทั่วไป และเครื่องมือที่เชฟประดิษฐ์ขึ้นมาเอง และศักยภาพของช็อกโกแลต ที่เมื่อรวมกันแล้วเป็นกลายเป็นเทคนิคการทำงานกับช็อกโกแลตที่เราไม่คาดคิด จนได้ออกมาเป็นชิ้นงานสวยๆ ที่ดูไปก็ว้าวไปอย่างไม่หยุดปาก ไม่แปลกใจที่ช็อกโกแลตแบรนด์ดังอย่าง Cacao Barry และ Callebaut มาเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับที่นี่ค่ะ ทำให้ได้ชมคุณสมบัติของช็อกโกแลตครบครันเลยทีเดียว
ส่วนใครที่อยากชมผลงานว้าวๆ ของเชฟ สามารถติดตามได้ทุกช่องทาง Social Media ค้นหาชื่อ Amaury Guichon ได้เลยค่ะ ไปติดตามกันได้นะคะ
หวังว่าเรื่องราวของ Amaury Guichon และ ซีรี่ย์ School of Chocolate จะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณในการลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการช็อกโกแลตและ Pastry ในประเทศไทยนะคะ เล็มมีจะรออุดหนุนค่ะ
สนใจช็อกโกแลตและแม่พิมพ์ช็อกโกแลต คลิ๊กที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ
แบรนด์ Callebaut :
https://www.lemmemore.com/category/252/1063/callebaut-couverture-chocolatechoc-chunk-ampcocoa-butter
แบรนด์ Cacao Barry :
https://www.lemmemore.com/category/252/49/cacao-barry-couverture-chocolate-compound-ampcocoa-butter
หากบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและต้องการนำไปเผยแพร่หรือแชร์ ต่อ ทางร้านขอสงวนสิทธิ์ ไม่อนุญาติให้คัดลอก ดัดแปลงบทความหรือข้อความใดๆ ของบทความนี้ทั้งบางส่วนและทั้งหมด แต่ขอให้กดปุ่ม share หรือ redirect ลิงก์ กลับมายังบทความต้นฉบับค่ะ ขอบคุณค่ะ